วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2560

ระยะทางแห่งความตาย

ถ้าจุดจบของชีวิต คือ ความตาย
แสดงว่าทุกสิ่งที่มีชีวิต 
คนหรือสัตว์ มีสิทธิ์เสมอภาค 
คือ ต้องตายเหมือนกัน 
แต่จะแตกต่างกันแค่เวลา

อายุ สถานที่เท่านั้น


ถ้าเปรียบเทียบอายุ๑ปี
เท่ากับ ๑ กิโลเมตร 
ที่เราทุกคนกำลังวิ่งอยู่


บางคนวิ่งได้ ๕๐ กิโลเมตร
บางคนวิ่งได้ ๘๐ กิโลเมตร
บางคนวิ่งได้ไม่กี่สิบกิโลเมตร
ก็ถึงความตายแล้ว 
เพราะระยะทางในการวิ่ง
ของแต่ละคนไม่เท่ากันและ
ไม่มีใครรู้ว่าเราจะตาย
ตอนอายุเท่าไหร่ เวลาใด
และที่ไหน


รู้แค่ต้องตาย ยังไงก็หนีไม่พ้น


ตาย หนึ่งในสัจธรรม ๕ ข้อที่เราพบเจอในหนึ่งชีวิตนี้ คือ
ชราธัมมตา เราต้องแก่ ไม่ใช่เราแก่ขึ้นทุกปี แต่เราแก่ขึ้นทุกวินาที ทุกลมหายใจ เพื่อไม่ให้หลงความสวยความหล่อควรพิจารณาบ่อยๆ เพราะความสวยความหล่ออยู่ไม่ถึง ๒๐ปีแต่ความชั่วความดีอยู่ไปตลอดกาล

พยาธิธัมมตา เราต้องเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเเข็งแรงขนาดไหน อายุมากหรือน้อย ก็เจ็บป่วยได้เช่นกัน เพราะร่างกายมีความเสื่อมไปทุกวันเราก็ไม่อาจหนีข้อนี้พ้นได้

มรณธัมมตา เราต้องตายแน่นอนทุกสิ่งมีชีวิตเกิดมาต้องตาย อยู่ที่ช้าหรือเร็วก็เท่านั้นดังที่กล่าวมาข้างต้น

ปิยวินาภาวตา  เราต้องพรัดพรากจากสิ่งที่รักหรือไม่รัก ไม่เราก็เขาที่ต้องจากกัน แต่ไม่รู้ว่าจะตอนไหน
ฉะนั้นควรทำดีต่อกันและกันไว้เมื่อเราและเขาจากไปจะไม่ต้องเสียใจในภายหลัง



กัมมัสสกตา เรามีกรรมเป็นของตน การกระทำของเราไม่ว่าดีหรือชั่ว ที่เราทำไว้เราต้องได้รับผลกรรมนั้น เหมือนที่ได้ยินกันบ่อยๆว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว


๕ ข้อนี้ควรคิดถึงบ่อยๆ โดยเฉพาะความตาย

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้า ตรัสถามพระอานนท์ว่าเธอคิดถึงความตายวันละกี่ครั้ง
พระอานนท์ตอนนั้นยังเป็นพระโสดาบันตอบว่าวันละ ๗ ครั้งขอรับ

พุทธองค์จึงตรัสว่า อานนท์ เธอยังประมาทมาก
เราคิดถึงความตายทุกลมหายใจ 
ความจริงแล้วความตายนี่มันอยู่แค่ปลายจมูก
 หายใจเข้าไม่หายใจออกมันก็ตาย หายใจออกไม่หายใจเข้ามันก็ตาย


เราควรคิดถึงทุกลมหายใจ
จะทำให้เราไม่หลงมัวเมาในวัยในชีวิต
และใช้ระยะทาง
ที่ยังเหลืออยู่ก่อนจะที่ถึงความตาย
อย่างมีคุณค่าแบบไม่ประมาท



ดั่งปัจฉิมพุทโธวาท
โอวาทครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้าว่า
หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย, บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า 
วะยะธัมมา สังขารา
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา 
อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ
ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด



จงทำดี คิดดี พูดดี 
ทำในสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ 
จงใช้ชีวิตให้มีค่า 
ก่อนเวลาจะหมดไป

ทำดีกับคนที่คุณรัก และ คนที่รักคุณ
สร้างประโยชน์แก่สังคม ก่อนจะถึงหลักกิโลเมตรแห่งความตาย

๏ชยวุฑโฒ
ช่างภาพ : จิรวฑฒโน

หนังสือเก่าทรงคุณค่า ณ พิพิธภัณฑ์วัดมณีวนารามฯ


มุมมองศาสนา



      เมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๐ คณะทำงานพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม ได้จัดหาตู้หนังสือ และดำเนินการคัดเลือกหนังสือเก่าหรือหนังสือที่มีคุณค่าอันเป็นสมบัติของวัดและพระบูรพาจารย์ในอดีตมาจัดแสดง ในกุฏิใหญ่ พิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม จำนวน ๓ ตู้ เพื่อเผยแพร่ความเป็นสำนักการศึกษา และเสริมสร้างการเป็นแหล่งเรียนรู้ ภายในโบราณสถานของวัดแห่งนี้ยิ่งขึ้น

        หนังสือเก่าเหล่านี้มีเป็นจำนวนมาก ทางคณะทำงานจักได้ดำเนินการทำบัญชี และปรับปรุงสถานที่เก็บรักษาในโอกาสต่อไป หนังสือส่วนใหญ่เป็นสมบัติของอดีตเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นพระมหาเถระนักปราชญ์ของเมืองอุบลราชธานีอันเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปคือ พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหปฺผโล) และพระกิตติญาณโสภณ (แสง นาคเสโน)




พิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม
เปิดให้เข้าชมได้ทุกวัน
เปิด เวลา ๐๗.๓๐-๑๗.๓๐

ขอบคุณ
ข้อมูลและภาพจาก
เพจวัดมณีวนาราม

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2560

ศาสนา ศาสดา ศาสนิก

ศาสนา ศาสดา ศาสนิก
มนุษย์ที่ดีนั้นต้องประกอบด้วยการยึดและปฏิบัติตามหลักศาสนากล่าวคือทุกคนในโลกนี้ล้วนมีศาสนาที่ตนนับถือและศาสนาแต่ละศาสนาก็มีหลักธรรมคำสั่งสอนของศาสดาที่ได้วางไว้เป็นแนวทางในการปฏิบัติยกตัวอย่างเช่นศาสนาพุทธที่คนไทยนับถือเป็นส่วนมากได้ให้หลักที่สำคัญไว้ดังนี้

1.ให้ละเว้นจากการกระทำบาปทั้งปวง

2.ให้กระทำความดี ทำบุญกุศลให้ถึงพร้อม

3.ให้ชำระจิตใจให้สะอาดหมดจดขัดเกลาชำระพวกกิเลสตัณหาทั้งหลายให้ออกไปจากจิตใจ

นี่คือหลักที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาได้ตั้งไว้ให้แก่ศาสนิกชนที่ดีได้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเพื่อเป็นหนทางของความพ้นทุกข์ นอกจากนี้ศาสนาต่างๆที่มีอยู่ทั่วโลกก็มีหลักคำสอนที่วางไว้ทั้งสิ้นแม้จะบัญญัติในลักษณะที่แตกต่างกันแต่จุดประสงค์ของผู้บัญญัติย่อมมีเจตนาให้ผู้ปฏิบัติตามเป็นคนดีและสิ่งสำคัญคือผู้ใดที่ยึดและปฏิบัติตามหลักของศาสนาที่ตนนับถือได้อย่างถูกต้องบนหลักเหตุและผลผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติของมนุษย์ที่ดีได้อย่างสมบูรณ์


ปญฺญาวชิโร

สุข + ทุกข์ = ความรัก

ไม่ว่าเวลาจะผ่าน
ไปหลายยุคหลายสมัย
ทุกอย่างเปลี่ยนเเปลงไปตามสภาพ
ตามเหตุ ตามปัจจัย
แต่มีอย่างหนึ่งที่ผู้คนยังต้องการ

ความรักก็ยังเป็นสิ่งหนึ่ง
ที่คนเราต้องการอยู่เสมอ

แง่มุมของความรักมีมากมาย
เเละมีรูปแบบที่แตกต่างกันไป
ตามทัศนคติของแต่ละบุคคล
เช่น ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก พี่มีต่อน้อง
ครูมีต่อศิษย์ เพื่อนมีต่อเพื่อน แม้กระทั่ง
ความรักของวัยหนุ่มสาว


แล้วความรัก คืออะไร
ทำไมคนเราถึงต้องมี
คำว่า รัก
เป็นคำกริยา
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
ให้ความหมายไว้ว่า
มีใจผูกพันด้วยความห่วงใย
มีใจผูกพันด้วยความเสน่หา
มีใจผูกพันฉันชู้สาว
และยังมีความหมายอีกมากมาย
ที่แตกต่างกันไป

ความรักนั้นเปรียบเสมือนดาบสองคม
มีสุข ก็ต้องมีทุกข์ปะปนกันไป
มีความสุขเมื่อสมหวังในสิ่งที่รัก
ถ้าผิดหวังก็ต้องทุกข์ใจ
ดั่งว่าที่ใดมีรัก ที่นั้นมีทุกข์
ยิ่งมีรักมากในสิ่งใด
ไม่ว่าจะเป็นบุคคล สิ่งของ
ของอย่างใดอย่างหนึ่ง
ตอนมันจากไป หรือแตกสลายไป
ก็ต้องทุกข์มากเช่นกัน


ในสมัยพุทธกาลหลานของนางวิสาขา
เสียชีวิต นางจึงร้องไห้ไปเฝ้าพระพุทธองค์
พระพุทธองค์ทรงทอดพระเนตรเห็น
จึงตรัสถามถึงเหตุนั้น แล้วได้ทราบว่า
หลานของนางวิสาขาเสียชีวิตไป
พระพุทธองค์จึงตรัสความตอนหนึ่งในวิสาขาสูตรว่า


ดูกรนางวิสาขา ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐๐ 

ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙๐ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙๐ ฯ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑๐ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑๐ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๙ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๙ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๘ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๘ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๗ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๗ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๖ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๖ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๕ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๕ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๔ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๔ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๓ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๓ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๒ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๒ ผู้ใดมีสิ่งที่รัก ๑ ผู้นั้นก็มีทุกข์ ๑ ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่มีความโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี ไม่มีอุปายาส

ผู้ใดไม่มีสิ่งที่รัก ผู้นั้นก็ไม่มีทุกข์
ความรักไม่มีตัวตนแต่มีอำนาจยิ่งนัก
โดยเฉพาะความรักของหนุ่มสาว
สามารถสั่งให้คนยิ้ม หัวเราะ ร้องไห้
กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ
และไม่คิดว่าจะทำได้
เพื่อคนๆหนึ่งหรือสิ่งหนึ่ง
ที่ตนต้องการ


เมื่อได้สิ่งที่รักมาแน่นอนย่อมมีความสุขยิ้มชื่นใจ
แล้วถ้าไม่ได้มาละทุกข์มาก น่ะสิ
ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์
รู้อยู่ว่ามันทุกข์ แต่ทำไมใจคนเราถึงต้องการ
อันที่จริงความรักไม่ได้ทำให้คนเป็นทุกข์หรอก
ใจเราต่างหากไม่ใช่หรือที่ทำให้เราเป็นทุกข์
ถ้าใจเราไม่ต้องการมากเกินไป
ไม่คาดหวังมากเกินไป
ไม่ยึดติดมากเกินไป
ไม่ผูกพันห่วงใยมากเกินไป
แล้วจะทุกข์มากไหม?


น่าจะไม่นะ เช่น คนที่เรารู้จักเฉยๆแต่ไม่เคยผูกพันธ์
เสียชีวิตจะเสียใจมากไหม? คำตอบอยู่ที่ใจเรา
ต่างจากคนที่เรารักและผูกพันธ์มากเช่น พ่อ แม่ แฟน เสียชีวิตดูสิ
ต้องร้องไห้ฟูมฟายเจ็บปวดแทบล้มประดาตายแน่ๆ


ฉะนั้นไม่มีอะไรแน่นอนหรอกนะ อย่ายึดติดกับอะไรให้มาก
ทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้
มันก็ต้องผ่านออกไปได้เช่นกัน พบได้ก็ต้องจาก
ถึงแม้เราจะรักและหวงแหนมากแค่ไหนเราก็ห้ามให้เขาตายไม่ได้
รู้อยู่ว่าทุกข์
ปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราๆอยากนักจะหลีกเลี่ยงความรักได้
แต่ถ้าเราไม่อยากเป็นทุกข์มาก เราควรรักให้เป็น
คือ ให้ใจควบคุมรัก ไม่ใช่ให้รักควบคุมใจเรา
อยู่เหนือมันให้ได้ อย่าตกเป็นทาสของความรัก
และควรรักด้วยความเมตตาปรารถนาดีต่อกันและกัน
ควรท่องจำไว้เสมอว่า
ไม่มีอะไรแน่นนอน สำหรับความรัก


ชยวุฑโฒ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
วิสาขาสูตร




โพสต์แนะนำ

แล้วมันจะผ่านไปจริงๆ

                                สักวันหากคุณเจอ เรื่องราวร้ายๆ   ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต  เรื่องที่คุณไม่สามารถ แก้ไขอะไรมันได้   ...