วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562

กุฏิสุขวงษ์ มรดกจากศรัทธา : บูรณะกุฎิโบรณ สืบสานปราชญ์ อุบลราชธานี วัดมณีวนาราม



         กุฏิหลังนี้ ตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาส ด้านทิศเหนือของวัด ในบรรดากุฏิทั้ง ๔ หลัง เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา ตามแถวถนน เป็นกุฏิหลังที่สาม ข้อมูลทางวัดระบุว่า “...กุฏิสายสุขวงศ์ กว้าง ๗ เมตร ยาว ๙ เมตร

      ลักษณะเป็นอาคารไม้ยกพื้นสูง มีใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่วสูง โดยเมื่อเทียบเคียงกับกุฏิหลังอื่นๆ ภายในวัด กุฏิหลังนี้จะมีหลังคาที่สูงที่สุด ตัวเรือนก่อผนังเป็นฝาไม้กระดานในแนวนอนตลอดตัวเรือน ขนาด ๓ ห้องมีการเจาะช่องหน้าต่างและประตู ตัวเรือนภายในการมีกั้นห้องด้วยฝาไม้กระดานเช่นกัน แบ่งออกเป็น ๓ ห้องโดยแต่ละห้องมีประตูทางเข้าภายใน ห้องละ ๑ ทาง ทั้งนี้ น่าสังเกตว่ากุฎิหลังนี้ไม่มีช่องระแนงหรือช่องลมมากนัก เมื่อเทียบเคียงกับหลังอื่นๆ โดยตัวเรือนของอาคารนี้ไม่มีการเจาะช่องระแนงหรือช่องลม ส่วนหน้าของตัวเรือนมีการทำชานยืนออกไปเป็นมุข ตัวชานมีการก่อระเบียงเจาะลูกกรงให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยมีพื้นที่รับกับส่วนพื้นที่ตัวเรือนของอาคาร ส่วนชานยังมีการทำบันไดในแนวขนานติดกับชาน เพียง ๑ ทาง คล้ายคลึงกับกุฏิหลังอื่นๆเช่นกัน ที่ผนังชานกุฏิมีป้ายโลหะ เขียนชื่อด้วยตัวอักษรไทย จำนวน ๑ บรรทัด ความว่า “...กุฏิสุขวงษ์...”
จุดเด่นของอาคารหลังนี้อาจกล่าวได้ว่าคือการทำหลังคาทรงจั่วที่สูงกว่าอาคารกุฏิหลังอื่นๆ จนกระทั่งทำให้ส่วนหลังคาของชานมุขมีมีความลาดแตกต่างกับส่วนหลังของตัวเรือนอย่างเด่นชัด คล้ายกับว่าส่วนหลังคาเป็นคนละส่วนกัน

      คุณพ่อกิ้มตุ้ม ไสสมบัติ (แซ่โง้ว) ผู้สร้างกุฏิสุขวงษ์



คุณยายสายบัว  สุขวงษ์ (ไชยศิริ) ผู้สร้างกุฏิสุขวงษ์ ร่วมกับสามี 

       กุฏิสุขวงษ์สร้างโดยคุณพ่อกิ้มตุ้ม ไสสมบัติ และภริยา คือ นางสายบัว สุขวงษ์ เป็นผู้สร้างกุฏิสุขวงษ์ เนื่องจากนามสกุลพ้องกัน และทั้งสองท่าน เป็นโยมคุ้มวัดมณีวนาราม ที่มีศรัทธาบริจาคทรัพย์สร้างอุโบสถวัดมณีวนารามโดยพบว่าทั้งสองมีรูปภาพหินอ่อนประดับไว้ภายในอุโบสถ ซึ่งนับเป็นหลักฐานสำคัญ ด้วยในอุโบสถมีเพียง หม่อมเจ้าหญิงบุญจิราธร จุฑาธุช (ชุมพล) ผู้บริจาคทรัพย์อันดับ ๑ จำนวนเงิน ๔๐๐,๐๐๐ บาท และ สองสามีภรรยาดังกล่าว เท่านั้น จากบรรดาเจ้าศรัทธากว่า ๘๗๑ ราย 


     ปัจจุบันกุฎิสุขวงษ์ เป็นสถานที่จัดแสดงภาพเก่าๆเกี่ยวกับวัดมณีวนาราม และเป็นสถานที่จัดแสดงภาพบูรพาจารย์ผู้มีคุณูปการต่อวัดมณีวนาราม





ภาพ: พระมหานิกร  โสภโณ
ข้อมูล:วีณา  วีสเพ็ญ[1] ,ปกรณ์  ปุกหุต[2],
ณัฐพงค์ มั่นคง[3], จิรวัฒน์  ตั้งจิตรเจริญ


[1]รองศาสตราจารย์ ประธานคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม
[2]เลขานุการ คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม และวิทยากรประจำพิพิธภัณฑ์
[3]กรรมการฝ่ายประสานงาน คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม 

วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2562

กุฏิมหาดิลก มรดกจากศรัทธา : บูรณะกุฎิโบรณ สืบสานปราชญ์ อุบลราชธานี วัดมณีวนาราม


กุฏิหลังนี้ ตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาส ด้านทิศเหนือของวัด ในบรรดากุฏิทั้ง ๔ หลัง เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา ตามแถวถนน เป็นกุฏิหลังที่สอง ข้อมูลทางวัดระบุว่า “...กว้าง ๗ เมตร ยาว ๙ เมตร...” (เทพมงคลเมธี, พระ, ๒๕๓๐: ๖)
         


       ลักษณะเป็นอาคารไม้กระดานยกพื้นสูง มีใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่ว ลาดเตี้ย ส่วนเสาใต้ถุนเป็นเสาไม้ ตัวเรือนก่อเป็นฝาไม้กระดานตีเป็นผนังอาคาร ขนาด ๓ ห้อง โดยฝาผนังส่วนใต้หน้าต่าง ตีเป็นฝาไม้กระดานในแนวนอนส่วนผนังระหว่างหน้าต่างจรดผนังเรือนด้านบนสุดตีเป็นฝาไม้กระดานในแนวตั้ง มีการเจาะช่องหน้าต่างกับบานกระจกใสไว้เหนือช่องหน้าต่าง 


     ส่วนตัวเรือนภายในมีการกันห้องออกเป็น ๓ ห้อง โดยแต่ละห้องมีประตูทางเข้าเพียงทางเดียว ตัวเรือนมีการทำชานด้านหน้าต่อออกเป็นมุข เป็นชานโปร่ง มีการทำระเบียงเจาะลูกกรงให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก 
ส่วนชานมีการทำบันไดขึ้นสู่ชานและตัวเรือน ๑ ทาง โดยวางตัวในแนวขนานติดกับชานด้านหน้า ทั้งนี้ ส่วนหลังคาทรงจั่วข้างต้นลาดคลุมทั้งส่วนตัวเรือนและส่วนชานด้วย โดยจั่วที่สูงที่สุดจะวางตัวในแนวนอนในส่วนเรือนที่เหนือชานประดับป้ายชื่อกุฏิ ด้วยอักษรไทย จำนวน ๔ บรรทัด ความว่า “...กุฏิมหาดิลก พ.อ.ฑิน มหาดิลก สร้างอุทิศแด่ นายเรือง นางคูณ หาริษาวรรณ และนางพันธ์ จุลกนิษฐ์ ๕ กรกฎาคม ๒๕๑๓...” 



          กุฏิมหาดิลก  ตั้งชื่อตามนามสกุลของท่านผู้บริจาคทรัพย์สร้างกุฏิขึ้น คือ พ.อ.ฑิน มหาดิลก (ชื่อท่านอ่านว่า “ทิน”) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออุทิศกุศลบุญ แด่ นายเรือง หาริษาวรรณ นางคูณ หาริษาวรรณ และนางพันธ์ จุลกนิษฐ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ตามที่ระบุไว้ในป้ายหน้ากุฏิ



        อนุสรณ์อีกแห่งภายในวัดนี้นอกจากกุฏิมหาดิลก แล้วคือซุ้มประตูวัดทิศใต้ หรือ ประตูมหาดิลก ซึ่งใช้เป็นทางเข้าของโรงเรียนอุบลวิทยากร และของวัดมณีวนาราม ด้านติดกับถนนพโลรังฤทธิ์ และวัดทุ่งศรีเมือง


ประตูโขงนี้ ยังเป็นที่บรรจุอัฐิบุคคลที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวคุณนายมาลัย มหาดิลก ได้แก่ คุณแม่คูณ หาริษาวรรณ คุณแม่พันธ์ จุลกนิษฐ์  คุณนายมาลัย มหาดิลก คุณยายตุ้มทอง นิลทวี ซึ่งจากจารึกที่ป้ายบรรจุอัฐิทำให้ทราบว่า คุณนายมาลัย มหาดิลก เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ และเสียชีวิต เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ สิริอายุ ๖๗ ปี


ภาพ: พระมหานิกร  โสภโณ
ข้อมูล:วีณา  วีสเพ็ญ[1] ,ปกรณ์  ปุกหุต[2],
ณัฐพงค์ มั่นคง[3], จิรวัฒน์  ตั้งจิตรเจริญ


[1]รองศาสตราจารย์ ประธานคณะกรรมการพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม
[2]เลขานุการ คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม และวิทยากรประจำพิพิธภัณฑ์
[3]กรรมการฝ่ายประสานงาน คณะกรรมการพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม 

วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2562

งานนมัสการขอพรพระแก้วโกเมนสาธุชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

๖  มีนาคม ๒๕๖๒ งานนมัสการขอพรพระแก้วโกเมน


                      วันที่ ๖  มีนาคม ของทุกปีถือว่าเป็นบุญประจำปีของวัดมณีวนาราม  นั้นก็คืองานนมัสการพระแก้วโกเมน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญอีกองค์หนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี




วลาประมาณ ๑๙.๐๐ น.ได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณพระเทพวิสุทธิโมลี  เจ้าคณะภาค ๑๐  เมตตาเป็นองค์กล่าวสัมโมทนียกถาและเป็นประธานจุดเทียนชัย  และได้รับความเมตตาจากพระเถระในจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีพระครูวิสิฐพัฒนาภรณ์ เจ้าคณะอำเภอเมืองอุบล  เป็นประธานสงฆ์ในการเจริญพระพุทธมนต์  


พระเดชพระคุณพระเทพวราจารย์  เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี  เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม ได้นำสาธุชนสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ  สังฆคุณ และพาหุงมหากา  ตลอดทั้งคืน เหมือนทุกปีที่ผ่านมา


ในงานครั้งนี้มียอดลงทะเบียนผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดเกือบ ๑,๕๐๐ คน ถือว่ามากกว่าปีที่แล้ว  

         สุดท้ายนี้ขออนุโมทนาเจ้าภาพโรงทานกว่า ๔๐ คณะ ที่มาร่วมสร้างกุศลในงานครั้งนี้ และขออนุโมทนาทุกท่านที่เข้าร่วมงานขอให้มีความสุข ความเจริญ ทุกคนทุกนท่าเถิด

โพสต์แนะนำ

แล้วมันจะผ่านไปจริงๆ

                                สักวันหากคุณเจอ เรื่องราวร้ายๆ   ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต  เรื่องที่คุณไม่สามารถ แก้ไขอะไรมันได้   ...