วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

สัมมนากุฏิแดง ๒๐๐ ปี ความภาคภูมิใจของชาวอุบลราชธานี


        เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม  คณะกรรมการจัดพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนารามเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เป็นวิทยากรบรรยายในงานสัมมนาเรื่อง กุฏิแดง ๒๐๐ ปี ความภาคภูมิใจของชาวอุบลราชธานี ประกอบด้วย รศ.วีณา วีสเพ็ญ ผศ.ดร.สมศรี ชัยวณิชยา นายปกรณ์ ปุกหุต นายประดับ ก้อนแก้ว จัดโดยหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ผู้ร่วมงานประกอบด้วยพระสงฆ์ สามเณร ตัวแทนหน่วยงาน องค์กร สถาบันการศึกษา ประชาชน นักศึกษา นักเรียน ประมาณ ๑๒๐ รูป/คนโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเปิดงาน พระเดชพระคุณพระเทพวราจารย์ แสดงปาฐกถานำ และภาคบ่ายชมกุฏิต่างๆผู้นำชมและบรรยายคือ นายปกรณ์ ปุกหุตและ นายณัฐพงค์ มั่นคง








พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธมฺมทีโป นิลคำอ่อน) พระบูรพาจารย์ วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย)




เรียบเรียงโดย ปกรณ์ ปุกหุต

ชาติภูมิ
       พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธมฺมทีโป) เกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน ๘ หลัง ปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ ที่บ้านหมู่ที่ ๑๑ ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี บิดาชื่อ นายดำ มารดา ชื่อนางหล้า สกุล         “นิลคำอ่อน” ท่านมีลักษณะ “...สัณฐานสันทัด สีเนื้อค่อนข้างดำ ร่างใหญ่ ลักษณะท่าทางทุกส่วนปกติ อัธยาศัยใหญ่ กล้าหาญ...” (กิ่งธรรม, ๒๕๓๘)

บรรพชา  อุปสมบท
       ได้บรรพชาเป็นสามเณรกับพระอธิการคำ ผู้เป็นอา ณ วัดโนนบอน เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้ย้ายมาอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดบ้านบุ่งหวาย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗ พระอธิการทา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการหนู วัดบ้านตาติด กับพระอธิการผา วัดบ้านจั่น เป็นคู่กรรมวาจาจารย์  ได้รับฉายาว่า “ธมฺมทีโป” (ผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง)


วิทยฐานะ (การศึกษา)
       เรียนสวดมนต์และหนังสือพื้นเมือง ขณะบรรพชาเป็นสามเณร จากพระอธิการคำ วัดโนนบอน
        เรียนสวดมนต์และท่องพระปาติโมกข์ ที่วัดบ้านบุ่งหวาย
        ราว พ.ศ. ๒๔๓๘ เรียนมูลกัจจายน์ และพระวินัย กับอาชญาท่านธรรมบาล (ผุย ธมฺมปาโล)       วัดป่าน้อยมณีวัน
        ราว พ.ศ. ๒๔๔๐ เรียนพระธรรมบท และมงคลทีปนี กับนายล้อม เปรียญ ณ วัดศรีทอง ตลอด ถึงวิชาแพทย์แผนโบราณ
ตำแหน่ง
       ราวหลัง พ.ศ. ๒๔๕๓  เจ้าอาวาสวัดป่าน้อยมณีวัน (วัดมณีวนาราม) รูปที่ ๕
        พ.ศ. ๒๔๕๖               เจ้าคณะแขวงวารินชำราบ (เจ้าคณะอำเภอ)  
พ.ศ. ๒๔๕๗               พระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๔๗๒               เจ้าคณะอำเภอเมืองอุบลราชธานี
สมณศักดิ์
       พ.ศ. ๒๔๕๒               พระครูวินัยธร  ฐานานุกรมของพระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร)                                   เจ้าคณะเมืองอุบลราชธานี
        พ.ศ. ๒๔๕๖               พระครูพวง  ตำแหน่งเจ้าคณะแขวงวารินชำราบ
        พ.ศ. ๒๔๖๘               ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตร ที่                                           พระครูวิจิตรธรรมภาณี
        พ.ศ. ๒๔๘๐               ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เป็น พระครูเจ้าคณะอำเภอกิตติมศักดิ์



เกียรติประวัติ

๑)  เป็นพระมหาเถระผู้เอาใจใส่การศึกษา มีการสืบทอดการเรียนมูลกัจจายน์ ริเริ่มการเรียนนักธรรม  กระจายศิษย์ผู้สอบนักธรรมตรีได้ ให้เป็นครูสอนยังสำนักเรียนต่าง ๆ ในอำเภอวารินชำราบ  ได้แก่ วัดคำน้ำแซบ (วัดวารินทราราม) วัดบ้านธาตุ และวัดบ้านก่อใน ตลอดถึงให้มีมติสงฆ์ นำเงินของวัดแต่ละแห่ง วัดละ ๑ บาท มาบำรุงการศึกษาพระธรรมวินัย เป็นรากฐานที่ทำให้การศึกษาในอำเภอนี้มีความเจริญรุ่งเรือง

๒)  เป็นพระมหาเถระนักปกครอง บริหารกิจการคณะสงฆ์เป็นอันดี ในฐานะเจ้าคณะแขวงของอำเภอวารินชำราบ และอำเภอเมืองอุบลราชธานี ทั้ง ๒ อำเภอรวม ๒๔ ปี นับเป็น “ภาระอันหนัก” แนะนำสั่งสอนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ด้วยการ “ยกย่อง การข่มขี่ ให้สมัครสมานสามัคคีปฏิบัติธรรมวินัยให้ก้าวขึ้นสู่ความเจริญ”

๓) เป็นพระมหาเถระผู้เอาใจใส่ “การนวกรรม” (การก่อสร้าง) รูปสำคัญของเมืองอุบลราชธานี โดยมีหลักพึ่งพากำลังจากพระภิกษุสามเณรเป็นหลัก ไม่บอกบุญเรี่ยไรญาติโยม เว้นแต่กรณีสำคัญ เป็นเหตุให้ศิษยานุศิษย์มีความชำนาญทางการก่อสร้างเช่นเดียวกับท่าน ผลงานเด่น ๆ ได้แก่
-      บูรณะเสนาสนะจำนวนมากภายในวัดป่าน้อยมณีวัน โดยเฉพาะกุฏิสงฆ์ หอแจก (ศาลาการเปรียญ) และซ่อม “สิม” สิ้นเงิน ๙๐๐ บาท
-      สร้างพระประธาน ๒ องค์ในหอแจกของวัดป่าน้อยมณีวัน คือ พระศาสดา (ขรัวตามหาเสนา ปั้นและหล่อ) และพระไชยราช (พระคำ ติสฺโส วัดมหาวนาราม ปั้นและหล่อ) ตัวท่านเองได้สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดย่อมองค์หนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒
-      ปฏิสังขรณ์หอแจก หรือวิหารพระเจ้าใหญ่อินแปลงของวัดป่าใหญ่ (วัดมหาวนาราม) โดยมีท่านเป็นผู้นำ พร้อมด้วยพระนิสิตวัดป่าน้อย และญาติโยม มีผู้ศรัทธาบริจาคทรัพย์ร่วมสร้างกว่า ๔,๐๐๐ บาท
-      ปฏิสังขรณ์สร้างเสนาสนะวัดคำน้ำแซบ (วัดวารินทราราม) ตลอดถึงการสร้างวัดบ้านหนองตาโผ่น (วัดวรรณวารี)



๔)  เป็นพระมหาเถระผู้มีสัทธิวิหาริก (ท่านเป็นอุปัชฌาย์) และอันเตวาสิก (ท่านเป็นอาจารย์) จำนวนมาก ดังปรากฏว่าเจ้าอาวาสแทบทุกรูปของวัดคำน้ำแซบ (วัดวารินทราราม) ล้วนมาเป็นเจ้าอาวาสตามคำบัญชาของพระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร) และพระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธมฺมทีโป) ศิษยานุศิษย์รูปสำคัญ ได้แก่
-      พระครูคุณวุฒิพิศาล (ล้อม คุณวุฒฺโฑ กุลวุฒิ) ป.ธ.๓ เจ้าคณะอำเภอ                    วารินชำราบ วัดวารินทราราม
-      พระครูวุฒิกรพิศาล (ทุย ธมฺมทินฺโน อรุณไชย) สาธารณูปการอำเภอวารินชำราบ เจ้าอาวาสวัดวารินทราราม (วัดบ้านคำน้ำแซบ) อ.วารินชำราบ (พ.ศ. ๒๔๓๘ – ๒๕๐๑)
-      พระนิโรธรักขิต (อ่อน จนฺทสโร เชื้อประทุม) เจ้าอาวาสวัดกาญจนสิงหาสน์ กรุงเทพฯ (๒๔๓๘ – ๒๕๓๑) (พระอุปัชฌาย์เมื่อครั้งอุปสมบท)
-      พระครูบุณฑริกคณารักษ์ (มงคล ปญฺญาวุฒฺโฒ กัญญาพงศ์) เจ้าคณะอำเภอบุณฑริก (๒๔๔๙ – ๒๕๐๙) เจ้าอาวาสวัดศรีมงคล อ.บุณฑริก
-      พระครูอุบลบุรานุรักษ์ (กัณหา) เจ้าคณะอำเภอเมืองอุบลราชธานี  วัดป่าน้อยมณีวัน
-      พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท ช่วงโชติ) เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ (พระอุปัชฌาย์เมื่อครั้งบรรพชาเป็นสามเณร)
-      พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหปฺผโล นิลดำอ่อน) รองเจ้าคณะภาค ๑๐ เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม (พ.ศ. ๒๔๔๕ –๒๕๓๘) (พระอุปัชฌาย์ และหลวงอา)
-      พระมหามณี ธมฺมจนฺโท ป.ธ.๔ เจ้าอาวาสวัดกลาง อ.เมือง  (ลาสิกขา)
-      พระมหาคำ นิลดำอ่อน ป.ธ.๕ วัดวารินทราราม อ.วารินชำราบ (ลาสิกขา)


มรณภาพ
       พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธมฺมทีโป นิลคำอ่อน) อาพาธด้วยไข้สันนิบาตตั้งแต่วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ อาการมีแต่ทรงกับทรุด สุดที่แพทย์จะเยียวยา พระคุณท่านได้มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา ๐๖.๔๗ น. ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ที่ห้องมุขด้านตะวันออก กุฏิปั้นหยา สิริอายุ ๖๔ ปี ครองวัด ๒๙ ปี

        กระทำพิธีสรงน้ำศพแล้ว เชิญเข้าบรรจุหีบศพรูปนพศูล ปิดกระดาษสลักลายสลับสี ประดิษฐานบนหอแจก บำเพ็ญกุศล ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน กระทั่งถึงวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้เริ่มพิธีบำเพ็ญกุศล ถึงวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ กระทำพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุรูปมณฑลจตุรมุข ที่ลานวัดป่าน้อยมณีวัน ด้านตะวันออกของหอแจก เก็บอัฐิแล้วบรรจุในเจดีย์ธาตุใหญ่กลางวัดเช่นเดียวกับเจ้าอาวาสรูปก่อน ๆ 

วันอังคารที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

แด่ความตายที่รอคอย


เราทุกคนต่างรู้ดีว่า
เกิดมาก็ต้องตาย
ไม่ว่าจะชั่วดีมีจนยังไง
ก็หนีไม่พ้น

ไม่เวลาใดเวลาหนึ่ง
ในห้วงชีวิตนี้ #ความตาย
ต้องมาเยี่ยมเราแน่สักวัน

เคยตั้งคำถามไหมว่า
ตายแล้วจะไปไหน?
ถ้าตอบแบบขำๆละก็
"ถ้าศพไม่อยู่บ้านก็อยู่วัด"
"ไม่ป่าช้า ก็เมรุ"

แต่ในทางพระพุทธศาสนา
มีกรรมเป็นเครื่องกำหนด
มีกรรมเป็นผู้ให้ผล

กรรม คือ กระทำ
กรรมดี คือ ทำดี
กรรมชั่ว คือ ทำชั่ว

จะทำดีหรือชั่วก็ตาม
ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น
ตามที่ตนกระทำ
ทำดีไปสวรรค์
ทำชั่วไปนรก
ตามที่เราได้ยินกันบ่อยๆ

ตายแล้วไปไหน?
จะเสียเวลาตั้งคำถามทำไม
ถ้าเราไม่ได้ประโยชน์อะไรจากมัน
สู้เอาเวลาที่เหลือลมหายใจอยู่
ไปทำในสิ่งดีๆที่เรายังไม่ทำดีกว่า

อยู่กับครอบครัว
อยู่กับคนที่เรารัก
ให้ความอบอุ่นกันและกัน

เป็นคนดีของสังคมประเทศชาติ
สร้างคุณประโยชน์เท่าที่เราจะสร้างได้
เข้าวัดทำบุญบ้างตามกำลังศรัทธา

ใช้เวลาที่เหลือให้คุ้มค่าก่อนวันนั้นจะมาถึง
วันที่เราทำอะไรไม่ได้แล้ว นอกเสียจากว่านอนนิ่งๆในโลงศพรอวัน
ให้เขาเอาไปเผาไฟ

รีบเถิดนะ อย่าคิดว่าตนเองยังหนุ่มอายุยังน้อย
รีบทำคุณงามความดีเสีย เพราะความตายไม่เคยเลือกอายุ
อย่างน้อยๆทำดีไว้
ให้เขาอ่านวันเผาศพก็ยังดี

๏ชยวุฑโฒ

วันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

วัดมณีวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี จัดพิธีแสดงพระธรรมเทศนา สุจริตธรรมกถา เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯลฯ



         พิธีแสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์ "สุจริตธรรมกถา" เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๕ พรรษา  วัดมณีวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี

       วันนี้ (๒๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐) เวลา ๐๘.๓๐ น. วัดมณีวนารามจังหวัดอุบลราชธานี จัดพิธีสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์ "สุจริตธรรมกถา" เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖๕ พรรษา โดยมีพระเดชพระคุณพระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม เป็นองค์แสดงพระธรรมเทศนา  ท่านชัชพงษ์ เอมสุวรรณ รองผู้ว่าราการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธาน มีข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ พร้อมด้วยนักเรียนมาร่วมฟังพระธรรมเทศนา ณ หอพระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม อุบลราชธานี 



ขอบคุณภาพจากคุณ พิชัย สุขินทร์

รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี กราบสักการะพระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม อุบลราชธานี



          บ่ายของวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐เวลา๑๓ .๓๐ น.โดยประมาณ  ท่านออมสิน  ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี     ได้เดินทางมากราบสักการะพระแก้วโกเมน และกราบนัมสการพระเดชพระคุณพระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม  ณ หอพระแก้วโกเมน  วัดมณีวนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง  จังหวัดอุบลราชธานี 

   

         และในการเดินทางมาครั้งนี้ ท่านออมสิน  ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมกุฏิพระอริยวงศาจารย์ หรือ กุฏิแดง และ ก่อนจะเดินทางกลับได้ให้เกียรติพบปะกับพระสังฆาธิการที่เข้าประชุมตามมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐  ณ โรงเรียนอุบลวิทยากร วัดมณีวนาราม







อาชญาท่านธรรมบาล (ผุย ธมฺมปาโล) บูรพาจารย์ วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย)


เรียบเรียงโดย ปกรณ์ ปุกหุต

ชาติภูมิ
อาชญาท่านธรรมบาล (ผุย ธมฺมปาโล) เกิดเมื่อวันเดือนปีใด ไม่ปรากฏหลักฐาน ที่บ้านขุนปูน ต.คำไฮใหญ่ อ.ดอนมดแดง จ.อุบลราชธานี ท่านมีลักษณะ “...สัณฐานสูงใหญ่ สีเนื้อขาวละเอียด ลักษณะท่าทางทุกส่วนสง่างาม ฟันทนไม่โยกคลอนสักซี่จนถึงวันมรณภาพ...” (กิ่งธรรม, ๒๕๓๘)

บรรพชา  อุปสมบท
อาชญาท่านธรรมบาล (ผุย ธมฺมปาโล) เป็นสัทธิวิหาริกของท่านพรหมมา พฺรหฺมสโร วัดหนองยาง จึงสันนิษฐานว่าท่านคงบวชที่วัดนี้ ซึ่งอาจเป็นวัดหนองยาง ในตัวเมืองอุบลราชธานี แต่ได้ร้างไปแล้ว ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนอุบลวิทยาคม ได้นามฉายา “ธมฺมปาโล” (ผู้รักษาซึ่งธรรม)


วิทยฐานะ (การศึกษา)
       ทราบแต่เพียงศึกษาท่านมีภูมิรู้ทางพระปริยัติธรรมแตกฉานมาก อย่างน้อยต้องสำเร็จการเรียนมูลกัจจายน์ เพราะท่านได้เป็นพระธรรมบาล อันเป็นตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์สูงสุดของเมืองอุบลราชธานีในเวลานั้น
ตำแหน่ง
       พระธรรมบาล หรือ เจ้าคณะเมืองอุบลราชธานี
        เจ้าอาวาสวัดป่าน้อยมณีวัน (วัดมณีวนาราม) รูปที่ ๔


สมณศักดิ์
       พระธรรมบาล ตามจารีตล้านช้าง


เกียรติประวัติ
๑)  เป็นพระมหาเถระผู้เชี่ยวชาญทางคันถธุระ และเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีปฏิปทานุ่งย้อมจีวรแก่นขนุนเป็นวัตร มีความชำนาญในแปลพระปริยัติธรรม


๒)  เป็นเจ้าสำนักมูลกัจจายน์  สำนักวัดป่าน้อยมณีวันในยุคของท่าน  มีชื่อเสียงด้านการเรียนมูลกัจจายน์ที่โด่งดัง มีพระภิกษุจากหัวต่าง ๆ มาเรียนเป็นจำนวนมาก  ทั้งนี้เนื่องจากท่านให้ความสำคัญกับการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง โดยพอใจสอนบาลีทั้งเวลาเช้าและบ่าย  วิธีการสอน ได้แก่  “...พระเข้าไปเรียนชุดละ ๖ – ๙ รูป ท่านจะใช้หูของท่านเป็นครู ใครแปลผิด ท่านจะทักทันที มือกับตาท่านใช้เขียนหนังสือใบลาน...”  (กิ่งธรรม, ๒๕๓๘)  ท่านสอนหนังสือกระทั่งดวงตาท่านพิการไปในที่สุด  นอกจากการสอนพระปริยัติธรรมแล้ว นอกเวลาว่างของท่าน คือ การฉัน และการจำวัด ท่านจะอ่านพระคัมภีร์ ดังที่ว่า “...ท่านพลิกหนังสือลานถึงกับง่ามมือพองเป็นแผล แม้นั่งดูบนขากะเยียไม่ไหว ท่านก็ยังทำห่วงสำหรับห้อยนอนดูอีก...” (กิ่งธรรม, ๒๕๓๘) แล้วจึงนำเนื้อหามาสั่งสอนศิษย์


๓) เป็นผู้วางรากฐานการศึกษาพระปริยัติธรรมของวัดมณีวนาราม สืบจากยุคของพระอริยวงศาจารย์  อาทิ  ได้ส่งศิษย์ ๓ รูป ไปอยู่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ เพื่อสอบไล่แปลหนังสือ แต่น่าเสียดายว่าป่วยไข้พิษมรณภาพเสียก่อน และท่านโปรดให้รวบรวมคัมภีร์ใบลานจากทีต่าง ๆ มารักษาไว้ที่วัดแห่งนี้ ด้วยปฏิปทารักตำรา ได้แก่ “...หากว่าบ้านใดเป็นแอ่งแห่งการเล่าเรียนอรรถบาลี เมื่อท่านอาจารย์วัดบ้านนั้นมรณภาพแล้ว ท่านให้ศิษย์ไปรวบรวมตำรามาเก็บไว้ จนได้สร้างตู้ใส่เพิ่มขึ้นอีก...”  (กิ่งธรรม, ๒๕๓๘)


๔)  เป็นพระมหาเถระที่ชนทุกชั้นเคารพนับถือ นับแต่เจ้าบ้านผ่านเมือง ขุนนางข้าราชการ และประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ ทรงศรัทธาพระคุณท่านมากจากความสามารถทางคันถธุระ โดยทรงอาราธนาไปรับบิณฑบาตที่วังสงัด ทดลองความรู้ในธรรมวินัยอันแตกฉาน ถึงกับทรงเปล่งวาจาชมเชยว่า
“...ในเมืองอุบลมีแก้ววิเศษ...”  ในภายหลังโปรดให้เชิญชวนมหาชนประกอบพิธีฮดสรง พร้อมประทานอัฐบริขารและสัญญาบัตรพัดยศ  ได้แก่  พัดงา ให้ท่านใช้ในงานหลวงต่าง ๆ ของเมืองสืบมา


๕)  เป็นผู้มองการณ์ไกลในด้านการอนุรักษ์และพัฒนา ด้วยการให้สร้างรั้วไม้ล้อมรอบวัด โดยปลูกไม้สำคัญ เช่น เบี้ย ยางนา ตะเคียนแดง เต็ง รัง พะยูง ฯลฯ เพื่อ “...ต่อไปข้างหน้าจะหาไม้ดี ๆ อย่างนี้ได้ยาก...” และเพื่อใช้เป็นไม้ในการซ่อมแซมเสนาสนะของวัดในอนาคต (กิ่งธรรม, ๒๕๓๘)


มรณภาพ
อาชญาท่านธรรมบาล (ผุย ธมฺมปาโล) มีความผูกพันกับวัดคำไฮใหญ่ อ.ดอนมดแดง เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน พระคุณท่านมักขึ้นแคร่หามเดินทางไปมาอยู่เสมอ แต่เวลากลับใช้การล่องเรือมาตามลำเซบก มาออกแม่น้ำมูลกลับเมืองอุบลราชธานี คราวหนึ่งล่องเรือมาถึงบ้านดงบัง ต.ดอนมดแดง แล้วท่านเกิดปวดศีรษะ จึงให้ราษฎรบ้านนั้นพาขึ้นแคร่คานหามกลับวัดป่าน้อยมณีวัน หากอาการอาพาธด้วยไข้สันนิบาตสุดเยียวยา ทำให้ดวงตาท่านบอดในที่สุด
บั้นปลายชีวิตท่านโปรดจำพรรษาที่วัดคำไฮใหญ่เป็นหลัก แต่มิได้ขาดความเคารพนับถือ  เหตุด้วยปัจจัยสี่จากมหาชนยังคงน้อมมาถวายท่านอยู่มิได้ขาด ภายหลังศิษยานุศิษย์ได้เชิญท่านกลับมาจำพรรษาที่วัดป่าน้อยมณีวันดังเดิม ก่อนท่านจะมรณภาพด้วยโรคชราที่กุฏิแดง สิริอายุ ๘๘ ปี ครองวัดประมาณ ๓๐ ปี
หลังพิธีสรงน้ำศพ ได้เชิญศพขึ้นบรรจุในหีบกำปั่นสำรอง บำเพ็ญกุศล ๗ วัน และเก็บศพไว้ ๖ เดือน จึงเชิญฌาปนกิจด้วยเมรุนกหัสดีลิงค์ โดยชักลากไปกระทำพิธีฌาปนกิจที่สุสานป่าช้าวัดแจ้ง (บ้างว่าเผาที่ทุ่งศรีเมือง) โดยมีพระพรหมมุนี (ติสฺโส อ้วน) เจ้าคณะมณฑลมาเป็นประธาน สหธรรมิกที่มาช่วยงานศพท่าน รูปสำคัญ ได้แก่ พระครูสีทันดรคณาจารย์ (โชติปาโล ทา) ผู้ก่อตั้งวงศ์ธรรมยุติที่เมืองโขง ประเทศลาว (คำบอกเล่าของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร)  แล้วจึงนำอัฐิมาบรรจุไว้ในธาตุใหญ่กลางวัด พร้อมรื้อธาตุของอาชญาท่านจันลา และอาชญาท่านคำ มาบรรจุรวมกันด้วย


วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

สถานที่ท่องเที่ยวในเมืองอุบลฯที่ท่านห้ามพลาด กุฏิโบราณวัดมณีวนาราม



กุฏิพระอริยวงศาจารย์ (กุฏิแดง) 



กุฏิพระอริยวงศาจารย์ หรือ กุฏิแดง อายุเกือบ ๒๐๐ ปี สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๓๗๑ อำนวยการสร้างโดย พระอริยวงศาจารย์ ญาณวิมล อุบลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดมณีวนาราม และเป็นที่จำพรรษาของท่าน  ลักษณะเป็นกุฏิเรือนไม้ใต้ถุนสูง แบบเรือนไทยภาคกลาง หรือ “เรือนเครื่องสับ” ฝาปะกน ขนาด ๔ ห้อง เป็นห้องใหญ่ ๒ ห้อง และห้องพาไล ด้านทิศเหนือและทิศใต้อย่างละ ๑ ห้อง เรียงจากซ้ายไปขวา  เน้นจัดแสดงเป็น  “กุฏิพระธรรม” ห้องทิศใต้เก็บรักษาเครื่องไม้สิมเก่าของวัด ซึ่งรื้อไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ถัดมาในห้องใหญ่แรก  เป็นห้องจัดเก็บรักษาศิลปวัตถุและจัดแสดงเอกสารโบราณของวัด ได้แก่ คัมภีร์ใบลาน จำนวน ๕ ตู้ เก็บรักษาคัมภีร์โบราณกว่า ๓๙๘ เรื่อง  ศิลาจารึกต่าง ๆ ตู้พระธรรม หีบพระธรรม  และธรรมาสน์โบราณของพระวิภาคย์พจนกิจ (เล็ก สิงหัษฐิต) และภริยา สร้างถวายในงานกฐินของวัด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ พร้อมนิทรรศการการบูรณะกุฏิแดงของกรมศิลปากร


กุฏิธรรมระโต 




กุฏิธรรมระโต สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยศรัทธาของโยมชื่อว่า “ทุย รชนีภาคบุตร” ย้ายสถานที่ปฏิสังขรณ์ใหม่ พ.ศ. ๒๔๘๓ ลักษณะอาคารเป็นกุฏิไม้ยกพื้นสูง  ประกอบด้วยส่วนตัวเรือนและส่วนระเบียงด้านหน้า สันนิษฐานว่าเป็นกุฏิที่จำพรรษา ของพระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธมฺมทีโป/นิลคำอ่อน) เจ้าคณะอำเภอเมืองอุบลราชธานี และเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม รูปที่ ๕ และพระครูศรีพิริยกิจ (ทองลา เตชปญฺโญ) อดีตรองเจ้าอาวาส  นับถึงปัจจุบัน อายุ ๑๐๔ ปี ภายในกุฏิประดิษฐานพระพุทธมณีโชติ พระพุทธรูปศิลาฝีมือช่างพื้นถิ่นอุบลราชธานี  ปางมารวิชัยประทับเหนือขนดนาค ๕ เศียร และเก็บรักษาพระพุทธรูปโบราณต่าง ๆ ของวัด

กุฏิใหญ่ 



กุฏิใหญ่ สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ในสมัยที่พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธมฺมทีโป/นิลคำอ่อน) เป็นเจ้าอาวาส  ได้ใช้เป็นที่จำพรรษาของอดีตเจ้าอาวาสหลายรูป และพระภิกษุสามเณร แบ่งเป็นห้องทั้งหมด ๖ ห้อง ยกพื้นสูง สร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง แบ่งเป็นตัวเรือนและชานระเบียง ประดับลวดลายฉลุไม้เถาวัลย์อย่างงดงาม หลังคามีหน้าจั่วทั้งสองข้าง บูรณะแล้วเสร็จในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
  ในเดือนกันยายนจึงได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม ห้องจัดแสดง ๖ ห้อง จัดแสดง พระบรมสารีริกธาตุ ศาสนศิลป์ต่าง ๆ เช่น ธรรมาสน์โบราณ คัมภีร์ใบลาน สมุดข่อย ผ้าห่อคัมภีร์ โกศลายรดน้ำ ตาลปัตรพัดยศ ข้าวของเครื่องใช้ของพระสงฆ์ในอดีต รูปภาพอดีตเจ้าอาวาส และโดยผนังด้านหน้ากุฏิจัดนิทรรศการตามรอยเสด็จยาตราเมืองอุบลราชธานี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ ๙ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ พร้อมภาพถ่ายอันหาชมได้ยาก ซึ่งค้นพบในวัดมณีวนาราม จัดทำโดยคณาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเพื่อเป็นการน้อมรำลึกพระคุณของพระองค์ท่านในการเสด็จมาเยี่ยมเยือนราษฎรชาวเมืองอุบลราชธานีหลายต่อหลายครั้ง 

เมื่อท่านมาเมืองอุบลฯอย่าลืมเข้ามาเยี่ยมชมกันนะ พิพิธภัณฑ์วัดมณีวนารามได้เริ่มเปิดให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา ๐๗.๓๐ - ๑๗.๐๐ น.


ขอบคุณข้อมูลจาก
ปกรณ์ ปุกหุต , วีณา วีสเพ็ญ, ณัฐพงค์ มั่นคง
คณะทำงานพิพิธภัณฑ์วัดมณีวนาราม
อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

โพสต์แนะนำ

แล้วมันจะผ่านไปจริงๆ

                                สักวันหากคุณเจอ เรื่องราวร้ายๆ   ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต  เรื่องที่คุณไม่สามารถ แก้ไขอะไรมันได้   ...