เรียบเรียงโดย ปกรณ์ ปุกหุต
ชาติภูมิ
อาชญาท่านธรรมบาล (ผุย ธมฺมปาโล) เกิดเมื่อวันเดือนปีใด
ไม่ปรากฏหลักฐาน ที่บ้านขุนปูน ต.คำไฮใหญ่ อ.ดอนมดแดง จ.อุบลราชธานี ท่านมีลักษณะ
“...สัณฐานสูงใหญ่ สีเนื้อขาวละเอียด ลักษณะท่าทางทุกส่วนสง่างาม
ฟันทนไม่โยกคลอนสักซี่จนถึงวันมรณภาพ...” (กิ่งธรรม, ๒๕๓๘)
บรรพชา อุปสมบท
อาชญาท่านธรรมบาล (ผุย ธมฺมปาโล)
เป็นสัทธิวิหาริกของท่านพรหมมา พฺรหฺมสโร วัดหนองยาง
จึงสันนิษฐานว่าท่านคงบวชที่วัดนี้ ซึ่งอาจเป็นวัดหนองยาง ในตัวเมืองอุบลราชธานี
แต่ได้ร้างไปแล้ว ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนอุบลวิทยาคม ได้นามฉายา “ธมฺมปาโล”
(ผู้รักษาซึ่งธรรม)
วิทยฐานะ
(การศึกษา)
ทราบแต่เพียงศึกษาท่านมีภูมิรู้ทางพระปริยัติธรรมแตกฉานมาก
อย่างน้อยต้องสำเร็จการเรียนมูลกัจจายน์ เพราะท่านได้เป็นพระธรรมบาล อันเป็นตำแหน่งปกครองคณะสงฆ์สูงสุดของเมืองอุบลราชธานีในเวลานั้น
ตำแหน่ง
พระธรรมบาล
หรือ เจ้าคณะเมืองอุบลราชธานี
เจ้าอาวาสวัดป่าน้อยมณีวัน (วัดมณีวนาราม)
รูปที่ ๔
สมณศักดิ์
พระธรรมบาล
ตามจารีตล้านช้าง
เกียรติประวัติ
๑) เป็นพระมหาเถระผู้เชี่ยวชาญทางคันถธุระ
และเคร่งครัดในพระธรรมวินัย มีปฏิปทานุ่งย้อมจีวรแก่นขนุนเป็นวัตร มีความชำนาญในแปลพระปริยัติธรรม
๒) เป็นเจ้าสำนักมูลกัจจายน์ สำนักวัดป่าน้อยมณีวันในยุคของท่าน มีชื่อเสียงด้านการเรียนมูลกัจจายน์ที่โด่งดัง
มีพระภิกษุจากหัวต่าง ๆ มาเรียนเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้เนื่องจากท่านให้ความสำคัญกับการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง โดยพอใจสอนบาลีทั้งเวลาเช้าและบ่าย วิธีการสอน ได้แก่ “...พระเข้าไปเรียนชุดละ ๖ – ๙ รูป
ท่านจะใช้หูของท่านเป็นครู ใครแปลผิด ท่านจะทักทันที
มือกับตาท่านใช้เขียนหนังสือใบลาน...” (กิ่งธรรม, ๒๕๓๘) ท่านสอนหนังสือกระทั่งดวงตาท่านพิการไปในที่สุด นอกจากการสอนพระปริยัติธรรมแล้ว
นอกเวลาว่างของท่าน คือ การฉัน และการจำวัด ท่านจะอ่านพระคัมภีร์ ดังที่ว่า
“...ท่านพลิกหนังสือลานถึงกับง่ามมือพองเป็นแผล แม้นั่งดูบนขากะเยียไม่ไหว
ท่านก็ยังทำห่วงสำหรับห้อยนอนดูอีก...” (กิ่งธรรม, ๒๕๓๘)
แล้วจึงนำเนื้อหามาสั่งสอนศิษย์
๓) เป็นผู้วางรากฐานการศึกษาพระปริยัติธรรมของวัดมณีวนาราม
สืบจากยุคของพระอริยวงศาจารย์
อาทิ ได้ส่งศิษย์ ๓ รูป
ไปอยู่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ เพื่อสอบไล่แปลหนังสือ
แต่น่าเสียดายว่าป่วยไข้พิษมรณภาพเสียก่อน และท่านโปรดให้รวบรวมคัมภีร์ใบลานจากทีต่าง
ๆ มารักษาไว้ที่วัดแห่งนี้ ด้วยปฏิปทารักตำรา ได้แก่ “...หากว่าบ้านใดเป็นแอ่งแห่งการเล่าเรียนอรรถบาลี
เมื่อท่านอาจารย์วัดบ้านนั้นมรณภาพแล้ว ท่านให้ศิษย์ไปรวบรวมตำรามาเก็บไว้
จนได้สร้างตู้ใส่เพิ่มขึ้นอีก...” (กิ่งธรรม, ๒๕๓๘)
๔) เป็นพระมหาเถระที่ชนทุกชั้นเคารพนับถือ
นับแต่เจ้าบ้านผ่านเมือง ขุนนางข้าราชการ และประชาชนโดยทั่วไป
โดยเฉพาะพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ฯ
ทรงศรัทธาพระคุณท่านมากจากความสามารถทางคันถธุระ
โดยทรงอาราธนาไปรับบิณฑบาตที่วังสงัด ทดลองความรู้ในธรรมวินัยอันแตกฉาน
ถึงกับทรงเปล่งวาจาชมเชยว่า
“...ในเมืองอุบลมีแก้ววิเศษ...” ในภายหลังโปรดให้เชิญชวนมหาชนประกอบพิธีฮดสรง
พร้อมประทานอัฐบริขารและสัญญาบัตรพัดยศ
ได้แก่ พัดงา
ให้ท่านใช้ในงานหลวงต่าง ๆ ของเมืองสืบมา
๕) เป็นผู้มองการณ์ไกลในด้านการอนุรักษ์และพัฒนา
ด้วยการให้สร้างรั้วไม้ล้อมรอบวัด โดยปลูกไม้สำคัญ เช่น เบี้ย ยางนา ตะเคียนแดง
เต็ง รัง พะยูง ฯลฯ เพื่อ “...ต่อไปข้างหน้าจะหาไม้ดี ๆ อย่างนี้ได้ยาก...”
และเพื่อใช้เป็นไม้ในการซ่อมแซมเสนาสนะของวัดในอนาคต (กิ่งธรรม, ๒๕๓๘)
มรณภาพ
อาชญาท่านธรรมบาล (ผุย ธมฺมปาโล)
มีความผูกพันกับวัดคำไฮใหญ่ อ.ดอนมดแดง เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน
พระคุณท่านมักขึ้นแคร่หามเดินทางไปมาอยู่เสมอ แต่เวลากลับใช้การล่องเรือมาตามลำเซบก
มาออกแม่น้ำมูลกลับเมืองอุบลราชธานี คราวหนึ่งล่องเรือมาถึงบ้านดงบัง ต.ดอนมดแดง
แล้วท่านเกิดปวดศีรษะ จึงให้ราษฎรบ้านนั้นพาขึ้นแคร่คานหามกลับวัดป่าน้อยมณีวัน หากอาการอาพาธด้วยไข้สันนิบาตสุดเยียวยา
ทำให้ดวงตาท่านบอดในที่สุด
บั้นปลายชีวิตท่านโปรดจำพรรษาที่วัดคำไฮใหญ่เป็นหลัก
แต่มิได้ขาดความเคารพนับถือ เหตุด้วยปัจจัยสี่จากมหาชนยังคงน้อมมาถวายท่านอยู่มิได้ขาด
ภายหลังศิษยานุศิษย์ได้เชิญท่านกลับมาจำพรรษาที่วัดป่าน้อยมณีวันดังเดิม
ก่อนท่านจะมรณภาพด้วยโรคชราที่กุฏิแดง สิริอายุ ๘๘ ปี ครองวัดประมาณ ๓๐ ปี
หลังพิธีสรงน้ำศพ
ได้เชิญศพขึ้นบรรจุในหีบกำปั่นสำรอง บำเพ็ญกุศล ๗ วัน และเก็บศพไว้ ๖ เดือน
จึงเชิญฌาปนกิจด้วยเมรุนกหัสดีลิงค์ โดยชักลากไปกระทำพิธีฌาปนกิจที่สุสานป่าช้าวัดแจ้ง
(บ้างว่าเผาที่ทุ่งศรีเมือง) โดยมีพระพรหมมุนี (ติสฺโส อ้วน)
เจ้าคณะมณฑลมาเป็นประธาน สหธรรมิกที่มาช่วยงานศพท่าน รูปสำคัญ ได้แก่
พระครูสีทันดรคณาจารย์ (โชติปาโล ทา) ผู้ก่อตั้งวงศ์ธรรมยุติที่เมืองโขง ประเทศลาว
(คำบอกเล่าของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร) แล้วจึงนำอัฐิมาบรรจุไว้ในธาตุใหญ่กลางวัด
พร้อมรื้อธาตุของอาชญาท่านจันลา และอาชญาท่านคำ มาบรรจุรวมกันด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น