วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธมฺมทีโป นิลคำอ่อน) พระบูรพาจารย์ วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย)




เรียบเรียงโดย ปกรณ์ ปุกหุต

ชาติภูมิ
       พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธมฺมทีโป) เกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน ๘ หลัง ปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ ที่บ้านหมู่ที่ ๑๑ ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี บิดาชื่อ นายดำ มารดา ชื่อนางหล้า สกุล         “นิลคำอ่อน” ท่านมีลักษณะ “...สัณฐานสันทัด สีเนื้อค่อนข้างดำ ร่างใหญ่ ลักษณะท่าทางทุกส่วนปกติ อัธยาศัยใหญ่ กล้าหาญ...” (กิ่งธรรม, ๒๕๓๘)

บรรพชา  อุปสมบท
       ได้บรรพชาเป็นสามเณรกับพระอธิการคำ ผู้เป็นอา ณ วัดโนนบอน เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้ย้ายมาอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดบ้านบุ่งหวาย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗ พระอธิการทา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการหนู วัดบ้านตาติด กับพระอธิการผา วัดบ้านจั่น เป็นคู่กรรมวาจาจารย์  ได้รับฉายาว่า “ธมฺมทีโป” (ผู้มีธรรมเป็นที่พึ่ง)


วิทยฐานะ (การศึกษา)
       เรียนสวดมนต์และหนังสือพื้นเมือง ขณะบรรพชาเป็นสามเณร จากพระอธิการคำ วัดโนนบอน
        เรียนสวดมนต์และท่องพระปาติโมกข์ ที่วัดบ้านบุ่งหวาย
        ราว พ.ศ. ๒๔๓๘ เรียนมูลกัจจายน์ และพระวินัย กับอาชญาท่านธรรมบาล (ผุย ธมฺมปาโล)       วัดป่าน้อยมณีวัน
        ราว พ.ศ. ๒๔๔๐ เรียนพระธรรมบท และมงคลทีปนี กับนายล้อม เปรียญ ณ วัดศรีทอง ตลอด ถึงวิชาแพทย์แผนโบราณ
ตำแหน่ง
       ราวหลัง พ.ศ. ๒๔๕๓  เจ้าอาวาสวัดป่าน้อยมณีวัน (วัดมณีวนาราม) รูปที่ ๕
        พ.ศ. ๒๔๕๖               เจ้าคณะแขวงวารินชำราบ (เจ้าคณะอำเภอ)  
พ.ศ. ๒๔๕๗               พระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๔๗๒               เจ้าคณะอำเภอเมืองอุบลราชธานี
สมณศักดิ์
       พ.ศ. ๒๔๕๒               พระครูวินัยธร  ฐานานุกรมของพระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร)                                   เจ้าคณะเมืองอุบลราชธานี
        พ.ศ. ๒๔๕๖               พระครูพวง  ตำแหน่งเจ้าคณะแขวงวารินชำราบ
        พ.ศ. ๒๔๖๘               ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์พระครูสัญญาบัตร ที่                                           พระครูวิจิตรธรรมภาณี
        พ.ศ. ๒๔๘๐               ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เป็น พระครูเจ้าคณะอำเภอกิตติมศักดิ์



เกียรติประวัติ

๑)  เป็นพระมหาเถระผู้เอาใจใส่การศึกษา มีการสืบทอดการเรียนมูลกัจจายน์ ริเริ่มการเรียนนักธรรม  กระจายศิษย์ผู้สอบนักธรรมตรีได้ ให้เป็นครูสอนยังสำนักเรียนต่าง ๆ ในอำเภอวารินชำราบ  ได้แก่ วัดคำน้ำแซบ (วัดวารินทราราม) วัดบ้านธาตุ และวัดบ้านก่อใน ตลอดถึงให้มีมติสงฆ์ นำเงินของวัดแต่ละแห่ง วัดละ ๑ บาท มาบำรุงการศึกษาพระธรรมวินัย เป็นรากฐานที่ทำให้การศึกษาในอำเภอนี้มีความเจริญรุ่งเรือง

๒)  เป็นพระมหาเถระนักปกครอง บริหารกิจการคณะสงฆ์เป็นอันดี ในฐานะเจ้าคณะแขวงของอำเภอวารินชำราบ และอำเภอเมืองอุบลราชธานี ทั้ง ๒ อำเภอรวม ๒๔ ปี นับเป็น “ภาระอันหนัก” แนะนำสั่งสอนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ด้วยการ “ยกย่อง การข่มขี่ ให้สมัครสมานสามัคคีปฏิบัติธรรมวินัยให้ก้าวขึ้นสู่ความเจริญ”

๓) เป็นพระมหาเถระผู้เอาใจใส่ “การนวกรรม” (การก่อสร้าง) รูปสำคัญของเมืองอุบลราชธานี โดยมีหลักพึ่งพากำลังจากพระภิกษุสามเณรเป็นหลัก ไม่บอกบุญเรี่ยไรญาติโยม เว้นแต่กรณีสำคัญ เป็นเหตุให้ศิษยานุศิษย์มีความชำนาญทางการก่อสร้างเช่นเดียวกับท่าน ผลงานเด่น ๆ ได้แก่
-      บูรณะเสนาสนะจำนวนมากภายในวัดป่าน้อยมณีวัน โดยเฉพาะกุฏิสงฆ์ หอแจก (ศาลาการเปรียญ) และซ่อม “สิม” สิ้นเงิน ๙๐๐ บาท
-      สร้างพระประธาน ๒ องค์ในหอแจกของวัดป่าน้อยมณีวัน คือ พระศาสดา (ขรัวตามหาเสนา ปั้นและหล่อ) และพระไชยราช (พระคำ ติสฺโส วัดมหาวนาราม ปั้นและหล่อ) ตัวท่านเองได้สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดย่อมองค์หนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒
-      ปฏิสังขรณ์หอแจก หรือวิหารพระเจ้าใหญ่อินแปลงของวัดป่าใหญ่ (วัดมหาวนาราม) โดยมีท่านเป็นผู้นำ พร้อมด้วยพระนิสิตวัดป่าน้อย และญาติโยม มีผู้ศรัทธาบริจาคทรัพย์ร่วมสร้างกว่า ๔,๐๐๐ บาท
-      ปฏิสังขรณ์สร้างเสนาสนะวัดคำน้ำแซบ (วัดวารินทราราม) ตลอดถึงการสร้างวัดบ้านหนองตาโผ่น (วัดวรรณวารี)



๔)  เป็นพระมหาเถระผู้มีสัทธิวิหาริก (ท่านเป็นอุปัชฌาย์) และอันเตวาสิก (ท่านเป็นอาจารย์) จำนวนมาก ดังปรากฏว่าเจ้าอาวาสแทบทุกรูปของวัดคำน้ำแซบ (วัดวารินทราราม) ล้วนมาเป็นเจ้าอาวาสตามคำบัญชาของพระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นนฺตโร) และพระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธมฺมทีโป) ศิษยานุศิษย์รูปสำคัญ ได้แก่
-      พระครูคุณวุฒิพิศาล (ล้อม คุณวุฒฺโฑ กุลวุฒิ) ป.ธ.๓ เจ้าคณะอำเภอ                    วารินชำราบ วัดวารินทราราม
-      พระครูวุฒิกรพิศาล (ทุย ธมฺมทินฺโน อรุณไชย) สาธารณูปการอำเภอวารินชำราบ เจ้าอาวาสวัดวารินทราราม (วัดบ้านคำน้ำแซบ) อ.วารินชำราบ (พ.ศ. ๒๔๓๘ – ๒๕๐๑)
-      พระนิโรธรักขิต (อ่อน จนฺทสโร เชื้อประทุม) เจ้าอาวาสวัดกาญจนสิงหาสน์ กรุงเทพฯ (๒๔๓๘ – ๒๕๓๑) (พระอุปัชฌาย์เมื่อครั้งอุปสมบท)
-      พระครูบุณฑริกคณารักษ์ (มงคล ปญฺญาวุฒฺโฒ กัญญาพงศ์) เจ้าคณะอำเภอบุณฑริก (๒๔๔๙ – ๒๕๐๙) เจ้าอาวาสวัดศรีมงคล อ.บุณฑริก
-      พระครูอุบลบุรานุรักษ์ (กัณหา) เจ้าคณะอำเภอเมืองอุบลราชธานี  วัดป่าน้อยมณีวัน
-      พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท ช่วงโชติ) เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ (พระอุปัชฌาย์เมื่อครั้งบรรพชาเป็นสามเณร)
-      พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหปฺผโล นิลดำอ่อน) รองเจ้าคณะภาค ๑๐ เจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม (พ.ศ. ๒๔๔๕ –๒๕๓๘) (พระอุปัชฌาย์ และหลวงอา)
-      พระมหามณี ธมฺมจนฺโท ป.ธ.๔ เจ้าอาวาสวัดกลาง อ.เมือง  (ลาสิกขา)
-      พระมหาคำ นิลดำอ่อน ป.ธ.๕ วัดวารินทราราม อ.วารินชำราบ (ลาสิกขา)


มรณภาพ
       พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธมฺมทีโป นิลคำอ่อน) อาพาธด้วยไข้สันนิบาตตั้งแต่วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๐ อาการมีแต่ทรงกับทรุด สุดที่แพทย์จะเยียวยา พระคุณท่านได้มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา ๐๖.๔๗ น. ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๐ ที่ห้องมุขด้านตะวันออก กุฏิปั้นหยา สิริอายุ ๖๔ ปี ครองวัด ๒๙ ปี

        กระทำพิธีสรงน้ำศพแล้ว เชิญเข้าบรรจุหีบศพรูปนพศูล ปิดกระดาษสลักลายสลับสี ประดิษฐานบนหอแจก บำเพ็ญกุศล ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน กระทั่งถึงวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้เริ่มพิธีบำเพ็ญกุศล ถึงวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐ กระทำพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุรูปมณฑลจตุรมุข ที่ลานวัดป่าน้อยมณีวัน ด้านตะวันออกของหอแจก เก็บอัฐิแล้วบรรจุในเจดีย์ธาตุใหญ่กลางวัดเช่นเดียวกับเจ้าอาวาสรูปก่อน ๆ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โพสต์แนะนำ

แล้วมันจะผ่านไปจริงๆ

                                สักวันหากคุณเจอ เรื่องราวร้ายๆ   ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต  เรื่องที่คุณไม่สามารถ แก้ไขอะไรมันได้   ...