บทที่ ๑
''ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ
ยกหนอ เหยียบหนอ
ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ
ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ
เสียงภาวนาที่ก้องอยู่ภายในใจ ที่เราต้องใช้สติกำหนดพิจารณารู้เท่าทันอารมณ์ เป็นอุบายวิธีที่สามารถ สะกดความรู้สึกของบุคคลผู้ที่เข้าปฏิบัติให้มีความสงบระงับได้เพราะแต่ละอย่างนั้นต้องใช้สติเป็นตัวกำกับเมื่อใดก็ตามถ้าขาดสติ เมื่อนั้นการพิจารณา จะขาดช่วงจนกระทั่งทำให้อาการเดินก็ดีหรือแม้แต่การนั่งก็ดีหรืออากัปกิริยาอื่นๆต้องมีอันโคลงเคลง
แต่เมื่อใดก็ตามที่จิตนิ่ง นั่นย่อมหมายถึงว่าความสุขมันเกิดขึ้นเกิดจากภาวนาที่จิตสงบเย็น
ความสงบเย็นนี้แหละที่สังคมไฟหากันอย่างมากในยุคปัจจุบัน เพราะความวุ่นวายสับสนที่เกิดขึ้นมีมากเหลือเกิน มากจนกระทั่งจิตแพทย์ต้องทำงานหนักในการที่จะคลี่คลายปัญหา รักษาโรคจิต เพื่อต่ออายุให้กับชีวิตที่หมกมุ่นมัวเมา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเรื่องทุกเรื่องมันอยู่ที่ ตัวเราเท่านั้นเองแหละ ที่สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ แต่คนก็มองข้ามศักยภาพของตัวเองไป หวังแต่พึ่งพาอาศัยคนอื่นจนกระทั่งลืมพึ่งพาอาศัยตนเอง
ความมหัศจรรย์ของหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าคือการให้มองที่ตนเองเป็นหลักมีคำกลอนที่ท่านผู้เป็นปราชญ์ได้ประพันธ์ไว้น่าสนใจว่า
โลกภายนอก กว้างไกล ใคร ใคร รู้
โลกภายใน ลึกซึ้งอยู่ รู้บ้างไหม
จะมองโลก ภายนอก มองออกไป
จะมองโลก ภายใน ให้มองตน
ทำอย่างไรเราจะมองที่ตัวเองให้แจ่มชัด มองตัวออก บอกตัวได้ ใช้ตัวเป็น ความวุ่นวายของปัญหาทุกอย่าง มันจึงถูกปรุงแต่งโดยการที่เรามองแต่ปัจจัยภายนอก แล้วเราก็ปรุงแต่งให้วันเกิดอาการวิลิสมาหรา ปรุงแต่งภาพ ให้เป็นอย่างนั้นอย่างนั้นตามแต่ใจปรารถนา หากว่าปรุงภาพดีก็ดีไป แต่ถ้าเป็นภาพที่ไม่ดีละ มันก็ทำให้ใจเสีย จิตใจของคุณโดยส่วนมาก มักจะปรุงแต่งแต่เรื่องที่ไม่ดีงาม เรื่องที่จะก่อให้เกิดประโยชน์นั้น มักจะไม่ปรุงแต่งกัน
กรรมฐาน จึงคือการมองตน มองให้ ใกล้ที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่าปล่อยให้จิตมันฟ้งไปพยายามควบคุม ควบคุมอายตนะภายใน ควบคุมอายตนะภายนอก ทำให้เป็นระบบเพราะมันมีทั้งศาสตร์และศิลป์ อยู่ในตัว เป็นเรื่องที่น่าศึกษาและน่าสนใจมาก อยากให้คนมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสแม้จะด้วยระยะเวลาที่เล็กน้อยมันก็อิ่มเอมใจเหลือเกิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น